RH block

ผศ.ดร.เกียรติสุดา สมนา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน

เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่ตนเองเป็นอาจารย์ผู้สร้างวิศวกรโยธามาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ได้เข้าไปคลุกคลีกับผู้ประกอบการด้านงานก่อสร้างในหลายบริษัท ซึ่งพบว่าช่วง 5 ปี ที่ผ่านมานี้ หลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญและจริงจังกับการประกาศแบรนด์เป็นผู้ประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราจึงหยิบความต้องการนี้มาศึกษาหาความเป็นไปได้ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลกขึ้น โดยได้เริ่มหารือกับ ผศ.ดร.รัฐพล สมนา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน และ ดร.ประชุม คำพุฒ อาจารย์จาก มทร.ธัญบุรี ในการร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่จะเข้าไปตอบโจทย์ความท้าทายนี้ โดยมุ่งเป้าที่จัดหาวัสดุเหลือทิ้งทางธรรมชาติมาใช้ในการก่อสร้างเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และจากการสำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศไทย พบว่าวัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เถ้าถ่านหิน หรือวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร เช่น เถ้าแกลบ สามารถนำมาสังเคราะห์ร่วมกับสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างได้ ซึ่งจากการพัฒนาส่วนผสมและศึกษาสมบัติทางกลจำนวนหลายครั้ง ปรากฎว่าผงเถ้าแกลบ กับ ผงเถ้าถ่านหิน ที่ผ่านการผสมที่ถูกต้องเมื่อนำมาขึ้นรูปเป็นบล็อกแบบไม่รับน้ำหนักขนาดมาตรฐาน (กว้าง x ยาว x สูง) ที่ 39 x 6.7 x 19 ได้น้ำหนัก 6.76 กิโลกรัมต่อก้อน มีกำลังอัดเท่ากับ 44.18 Mpa และมีค่าดูดกลืนน้ำอยู่ที่ 2.82 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลที่ได้นี้มีคุณสมบัติทางกลที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์คอนกรีตบล็อกกลวงไม่รับน้ำหนัก มอก.เลขที่ 58-2560 โดยให้ความทนทานแข็งแรงและมีคุณสมบัติรับกำลังได้เช่นเดียวกับคอนกรีตบล็อกปูนซีเมนต์กลวงไม่รับน้ำหนักในท้องตลาดทั่วไป สามารถนำไปใช้ก่อผนังได้ อีกทั้งผู้บริโภคสามารถเลือกใช้เป็นวัสดุทดแทนคอนกรีตบล็อกปูนซีเมนต์แบบเดิมได้เลย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของคุณภาพและราคา ซึ่งข้อดีของผลิตภัณฑ์บล็อกรักษ์โลกนี้ คือ ช่วยกำจัดวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และเนื่องจากไม่มีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ จึงทำให้ต้นทุนถูกลง แต่ในทางกลับกันสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้มาก